วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โครงการคุณแม่วัยใส กิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น


หลักการและเหตุผล
วัยรุ่น  หมายถึง  กลุ่มบุคคลที่มีอายุ 9 19 ปี  เป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ  อารมณ์ และสติปัญญา โดยมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ มีพัฒนาการทางร่างกาย   โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ จนมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์  มีพัฒนาการด้านจิตใจ ซึ่งเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นผู้ใหญ่  และมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาครอบครัวมาเป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้ของตนเอง หรือมีสิทธิทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ  เช่น ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน  เยาวชนมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากกระทำผิดต้องขึ้นศาลผู้ใหญ่ เป็นต้น ในด้านพัฒนาการทางอารมณ์  และจิตใจ พบว่าวัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้ อยากเห็น และอยากทดลอง ต้องการการยอมรับจากเพื่อน

          ดังนั้น วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจถูกชักจูงได้ง่าย  ขาดความนับถือตนเอง  รวมถึงขาดทักษะชีวิต ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง (risk behavior) ในด้านต่างๆ  เช่น ขับรถประมาท ยกพวกตีกัน ดื่มสุรา  และใช้สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ระวัง ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น  ทั้งนี้  พฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว เป็นสาเหตุการตายของวัยรุ่น  โดยเฉพาะเพศหญิง  ได้แก่  การทำแท้ง  การคลอด การติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้  
กิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น จึงมุ่งเน้นที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง
-          บทบาททางเพศที่แตกต่างกันระหว่างหญิงชาย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างสมดุล
-          สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น พัฒนาการทางเพศตามวัย  การรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกันและต่างเพศ การตัดสินใจและไขปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
วัตถุประสงค์
              1. สร้างความตระหนักและองค์ความรู้เรื่องบทบาทและคุณค่าของความเป็นชาย/หญิงในสังคม  พัฒนาการทางเพศ  การจัดการอารมณ์ สัมพันธภาพทางเพศ  พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น   การเสริมสร้างสุขภาพวัยรุ่น
              2. เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น และมีทักษะในการปฏิเสธต่อพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต
กลุ่มเป้าหมาย 
กลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 12 - 19 ปี ในชุมชน
ระยะเวลาดำเนินการ  1-2 วัน
รูปแบบดำเนินการ
1.      จัดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแบบล้อมวงคุยกัน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งน่าจะมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
2.      สื่อและวิธีการ ได้แก่ บัตรคำถาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ
วิธีดำเนินการ
            1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้นๆ การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก
2. ผู้นำกระบวนการ โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้
·       แบ่งกลุ่มจำนวนเท่าๆ กัน ผู้นำกระบวนการแจกบัตรคำถาม ให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น
      2.1 บทบาททางเพศที่แตกต่างกันระหว่างหญิงชาย
                              ตัวอย่างคำถาม - คำอธิบาย เช่น
-          คำถาม : “น้องๆ คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า เราสามารถสืบพันธุ์ได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายมีอสุจิ ฝ่ายหญิงมีประจำเดือน
คำอธิบาย : การสืบพันธุ์นั้น หมายถึง การที่อสุจิผสมกับไข่ โดยมุ่งหวังให้เกิดทายาท แต่การมีเพศสัมพันธ์เป็นสัมผัสที่มีเหตุทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นไปในทางบวกหรือทางลบก็ได้ ดังนั้น ควรคิดอย่างรอบคอบถึงเหตุผลทั้งของเรา และคู่ของเราเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ อย่าให้อีกฝ่ายมาบังคับ และถ้าพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์อย่าลืมป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย
-          คำถาม : “เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม สาว เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง น้องๆคิดว่า ร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
      คำอธิบาย : เมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือ วัยหนุ่มสาว ร่างกายเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สูงขึ้น แข็งแรงขึ้น น้ำหนักขึ้น มีสิว ขนขึ้น มีกลิ่นตัว กลิ่นปาก อารมณ์แปรปรวน ในเด็กหญิงจะมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง หน้าอกโต มีประจำเดือน ในเด็กชายจะมีกล้ามเนื้อโตขึ้น มีอวัยวะเพศที่ยาวและใหญ่ขึ้น เสียงแตกและทุ้ม ลึก อารมณ์แปรปรวน อาจจะรวมถึงหงุดหงิด สับสน กังวล และมีความรู้สึกทางเพศ เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
      2.2 สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ  
ตัวอย่างคำถาม - คำอธิบาย เช่น
-          คำถาม : การพูดคุยกับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนต พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเสี่ยงไหม
                                             คำอธิบาย : การคุยกับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนตมีโอกาสเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะถ้ามีการแลกเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือนัดพบกันตามลำพัง เพราะคนแปลกหน้าที่ติดต่ออาจไม่ใช่คนดีอย่างที่คิด อาจหวังที่จะหลอกลวงหรือคิดไม่ดีกับเรา หากเห็นว่าจำเป็นต้องนัดเจอกัน ควรรอจนรู้จักกันให้มากขึ้น หากตัดสินใจนัดพบกันควรเป็นที่สาธารณะ และไม่ควรไปคนเดียว
-          คำถาม : ถ้าอีกฝ่ายขอให้ไปอยู่ในที่ส่วนตัว ลับตาคน สองต่อสอง น้องๆ จะพูดว่าอย่างไร
                                             คำอธิบาย : ลองชวนเขาทำกิจกรรมอื่น ร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวของเรา หรืออาจบอกตรงๆ ว่าไม่อยากไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงและรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย
-          คำถาม : ถ้าแฟนชวนไปที่บ้าน แล้วชวนให้นอนค้างที่บ้าน น้องๆ จะทำอย่างไร
                                             คำอธิบาย : การไปนอนค้างบ้านแฟนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป แต่การอยู่ใกล้ชิดกันอย่างนั้น โอกาสที่อารมณ์จะพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก็มีสูงมาก ถ้าไม่พร้อมควรบอกแฟนอย่างตรงไปตรงมา หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรชวนเพื่อนๆ ให้อยู่กันหลายๆคน และถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์ขึ้นมาจริงๆ ต้องมั่นใจว่าเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและใช้ถุงยางอนามัย
-          คำถาม : ถ้าแฟนไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำอย่างไร
                                             คำอธิบาย : อย่างแรกควรคิดว่าเราพร้อมหรือยังที่จะรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะตามมา ซึ่งอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ หรือการเกิดการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ถ้าคิดว่ายังไม่พร้อมควรบอกแฟนไปตรงๆ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะชอบเราน้อยลง เพราะถ้าเขารักเราจริง เขาจะต้องเข้าใจเหตุผลของเรา
·       นอกจากใช้บัตรคำแล้ว ผู้นำกระบวนการอาจใช้สื่ออื่นๆ เช่น ภาพจากโฆษณา ละครโทรทัศน์ เป็นสื่อนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น
3.      ผู้นำกระบวนการกล่าวสรุปในช่วงท้ายถึงการเรียนรู้ร่วมกันว่า
                  ร่างกายของเราเมื่อกำลังเข้าสู่วัยรุ่นนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าอนามัยเจริญพันธุ์ เริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็สามารถสืบพันธุ์ได้ มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น มีสิวขึ้น ความสูงและน้ำหนักที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ วัยรุ่นจะให้ความสนใจเรื่องเพศ อยากเป็นที่รักที่สนใจของคนที่ตนเองสนใจ วิธีที่ดีที่สุดที่จะเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ คือการเรียนรู้ เข้าใจและปรับตัว ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติ
                    การประเมินความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เป็นทักษะชีวิตที่แต่ละคนควรจะประเมินอันตรายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสบายใจ ความพร้อม และความสามารถในการรับผิดชอบของแต่ละคนที่สามารถรองรับผลที่ตามมา
                    การต่อรองเป็นทักษะที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ สถานการณ์ ถ้าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอแล้วจะช่วยให้เราสามารถบรรลุความสำเร็จทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน และเรื่องส่วนตัว และการมีทักษะการต่อรองที่ดี จำเป็นต้องมีการสื่อสารบนรากฐานของเหตุและผล และทั้งสองฝ่ายต้องสบายใจด้วยกัน หากต้องการมีทักษะการต่อรองที่มีประสิทธิผลสำเร็จ ก็ต้องหมั่นฝึกฝน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

·       เด็กและเยาวชนทั่วไปมีทักษะและภูมิคุ้มกันในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ
·       เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น และมีทักษะในการปฏิเสธต่อพฤติกรรม
ที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต